ศิลปะการแสดงพลิกฟื้นจิตวิญญาณ ‘อูรักลาโว้ย’ ผู้บุกเบิกที่กลับกลายเป็นอื่นบนผืนเกาะลันตา

ศิลปะการแสดงพลิกฟื้นจิตวิญญาณ ‘อูรักลาโว้ย’ ผู้บุกเบิกที่กลับกลายเป็นอื่นบนผืนเกาะลันตา

ชาติพันธุ์แรกบนเกาะลันตา ผู้ถูกรุกไร่จนไม่มีแม้แต่เรืองราวในประวัติศาสตร์ลันตา ศิลปะการแสดงสดนานาชาติ เกาะลันตา จึงขอเปล่งเสียงให้คนรู้จัก ‘อูรักลาโว้ย’

“จากผู้บุกเบิกเกาะลันตา ทุกวันนี้ อูรักลาโว้ย กลับกลายเป็นอื่นบนผืนดินตนเอง”

เลน - จิตติมา ผลเสวก ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะแสดงสด และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการศิลปะชุมชน (Community Art Project : CAP) กล่าวถึงเหตุผลหลักสำคัญที่จัดงานเทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติเกาะลันตา ครั้งที่ 1 ขึ้นมาเมื่อวันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่  ดำเนินงาน ร่วมกับ เสมสิกขาลัย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา

  24068629_1708315482547065_2682300749622345275_o

จิตติมา ผลเสวก และ ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง ร่วมกันก่อตั้งโครงการศิลปะชุมชนขึ้นเมื่อปี 2547 เพื่อทำงานสะท้อนเรื่องสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและวิถีชุมชน โดยการนำเอาศิลปะที่ทั้งคู่ถนัดเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน ด้วยความเชื่อในพลังของงานศิลปะว่าสามารถสื่อเรื่องราวดังกล่าวให้กับสาธารณชนรับรู้ได้

ผลงานที่ผ่านมาของโครงการศิลปะชุมชน อาทิ ศิลปะแลกเปลี่ยนไทย-พม่า สาละวิน (ปี ค.ศ.2002), ศิลปะชุมชนบ้านอูรักลาโว้ย โต๊ะบาหลิว เกาะลันตา กระบี่ (ปี ค.ศ.2004), นิทรรศการภาพถ่ายเคลื่อนที่ ชนเผ่าแห่งทะเล จากพังงาสู่ภูเก็ต (ปี ค.ศ.2005), นิทรรศการ ชนเผ่าแห่งทะเล ณ สวนสันติไชยปราการ กรุงเทพฯ (ปี ค.ศ.2005), แม่โขง : สายน้ำเราร่วมกัน 1-6 (ปี ค.ศ.2006-2016), ศิลปะชุมชนปฏิบัติการศิลปะที่ทวาย ประเทศเมียนมาร์ (ปี ค.ศ.2017) และ ศิลปะชุมชนสนทนา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ปี ค.ศ.2017)

เทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติเกาะลันตา ครั้งที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะชุมชนซึ่งจิตติมา ได้ลงทำงานในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลโดยสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่อูรักลาโว้ยผ่านทางนายสมบูรณ์ ช้างน้ำ บ้านสังกาอู้ นายเดียว ทะเลลึก บ้านในไร่ ชาวอูรักลาโว้ยคนอื่นๆ และคนในพื้นที่เกาะลันตา เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมา พื้นที่ทางจิตวิญญาณ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวอูรักลาโว้ย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ทั้งด้านระบบนิเวศและด้านอื่นๆ บนเกาะซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวอูรักลาโว้ย

23845738_1703381573040456_4228955668032700166_o

เทศกาลฯ เชิญศิลปินชาวไทยและชาวต่างชาติจากประเทศอินโดนีเซีย แมนจูเรีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ อเมริกา โดมินิกัน อังกฤษ นอร์เวย์ (กลุ่ม Bergen) และไทย จำนวน 22 คนเข้าร่วมแสดงศิลปะการแสดงสดนานาชาติ

ศิลปินทั้งหมดได้เดินทางมาใช้ชีวิตร่วมกันบนเกาะลันตาระหว่างวันที่ 18 - 22 พฤศจิกายน  เพื่อทำความรู้จักกับสภาพแวดล้อมบนเกาะและวิถีชีวิตของอูรักลาโว้ย ก่อนจะเลือกพื้นที่ทำงานตามความต้องการของศิลปิน และมีชาวอูรักลาโว้ยร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้วย

โดยศิลปินแต่ละคนเลือกแสดงสดได้ทั้งแบบเดี่ยวหรือกลุ่มในพื้นที่สำคัญสามแห่งที่เทศกาลกำหนดเอาไว้ได้แก่ บ้านโต๊ะบาหลิว บ้านสังกาอู้ และอ่าวนุ้ยซึ่งในวันแสดงมีฝนตกตลอดวันไม่สะดวกจัดแสดงที่ดังกล่าวจึงเปลี่ยนมาใช้สถานที่จัดแสดงเป็นหาดพระแอะ  ศิลปินทั้ง 22 คนจาก 10 ประเทศเปิดการแสดงศิลปะการแสดงสดนานาชาติเกาะลันตา ครั้งที่ 1 ขึ้น ระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน

23669198_1703381349707145_1562848010804064710_o

โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายน นายศักดา สีแดง ปลัดอาวุโสอำเภอเกาะลันตา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน และมีนายธีรพจน์ กสิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำทางจิตวิญญาณโต๊ะบาหลิว ชาวอูรักลาโว้ยทั้งผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กๆ มาร่วมเปิดเทศกาลกับศิลปินแสดงสด ได้รับความสนใจทั้งจากคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวบนเกาะลันตาในช่วงเวลาดังกล่าว 

จิตติมาเล่าถึงความเป็นมาของชาวอูรักลาโว้ย ว่า

“เมื่อกว่า 500 ปีก่อนชาวอูรักลาโว้ยเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีสัญจรอยู่ในท้องทะเล พวกเขาตัดสินใจขึ้นฝั่งปักหลัก ณ แผ่นดินที่แลเห็นหาดทรายขาวยาวเหยียด ที่พวกเขาเรียกกันว่า ซาตั๊ก และต่อมาผู้เข้ามาพำนักในภายหลังได้เรียกชื่อแผ่นนี้ว่า เกาะลันตา ซึ่งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากรู้จักเกาะลันตาว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่ง

น้อยคนนักที่จะทราบว่าชาวอูรักลาโว้ยเป็นผู้ค้นพบเกาะลันตาแห่งนี้

23847096_1707688055943141_3641067488808427389_o

ต่อมาจึงมีชาวมลายูเข้ามาอยู่ และชาวจีนที่เดินเรือมาทำการค้าขายกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียได้แวะพักที่เกาะลันตาใหญ่ ส่วนหนึ่งไม่เดินทางกลับจึงตัดสินใจลงหลักปักฐานที่นี่ ทำสัมปทานป่าโกงกางเพื่อเผาถ่าน และชาวไทยพุทธเป็นกลุ่มหลังสุดที่มาอยู่ที่เกาะลันตา

ในแต่ละยุคที่มีผู้คนเข้ามาลงหลักปักฐาน ได้มีการรุกคืบพื้นที่อยู่เดิมของชาวอูรักลาโว้ยผู้อยู่มาก่อนด้วยวิธีการต่างๆ กัน ประวัติศาสตร์ของเกาะลันตายังหลงลืมเขียนถึงเรื่องราวของพวกเขา

ปัจจุบันพื้นที่ของชาวอูรักลาโว้ยก็หดตัวคับแคบลงทั้งที่พำนัก พื้นที่ท่าเทียบเรือทำมาหากิน แม้แต่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาที่เคยมีรอบเกาะยังถูกเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น รวมถึงการรุกรานใหม่ๆ ที่กำลังถาโถมเข้ามา เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และกฎหมาย เป็นต้น

ดังนั้น การเกิดขึ้นของศิลปะแสดงสดจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่จะสื่อและบอกเล่าเรื่องราวของชาวอูรักลาโว้ยเกาะลันตา เกี่ยวกับเรื่องราวกลุ่มชนของพวกเขาและเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงการมีอยู่และอัตลักษณ์ของชาวอูรักลาโว้ย”

IMG_6270

ศิลปินทั้ง 22 คนที่ตอบรับและร่วมแสดงสดในเทศกาลฯ ต่างทำงานศิลปะเกี่ยวกับประเด็นสังคม วิถีชีวิตผู้คนในชุมชน และสิ่งแวดล้อมโดยใช้ศิลปะบอกเล่าเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ เช่น การแสดงสด ภาพวาด ภาพถ่าย จัดวาง ประติมากรรม เป็นต้น ศิลปะการแสดงสดนานาชาติครั้งนี้ มีนักดนตรีชาวแมนจูเรีย อังกฤษ และสิงคโปร์ได้ร่วมแสดงดนตรีร่วมกับชาวอูรักลาโว้ย โดยในส่วนของนักดนตรีจากแมนจูเรีย Han XiaoHan ได้บันทึกเสียงการเล่าประวัติของบรรพบุรุษชาวอูรักลาโว้ยโดยชาวอูรักลาโว้ยได้เล่าเป็นภาษาอูรักลาโว้ย และเขายังได้บรรเลงบทเพลงประกอบการเล่ามหากาพย์โบราณของชาวแมนจูในอดีต

IMG_0914

การแสดงสดของ จิตติมา ผลเสวก เป็นการแสดงในวันปิดงาน ได้แสดงให้ผู้ชมได้เห็นว่า การทำงานของเธอได้รวมความเป็นอูรักลาโว้ยไว้ในการแสดงที่อาจจะกล่าวได้ว่า มีความครบถ้วนของเรื่องราวชาวอูรักลาโว้ยผ่านชิ้นงานศิลปะ ส่วนศิลปินคนอื่นๆ ได้ร่วมกันทำงานแสดงสดเพื่อให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างจิตวิญญาณความเป็นอูรักลาโว้ยผ่านงานศิลปะที่ทุกคนได้คิดและสร้างสรรค์ออกมา

เทศกาลศิลปะแสดงสดนานาชาติ เกาะลันตา ครั้งที่ 1 จึงทำให้ประจักษ์ว่า ศิลปะชุมชนและศิลปะทุกแขนงเป็นพลังขับเคลื่อนหลายสิ่งในสังคมที่เรามิอาจปฏิเสธได้